หมอเตือนภัย โรคมะเร็งตับ สาเหตุคร่าชีวิต “ตั้ว-ศรัณยู” รู้ตัวช้า อาจอยู่ไม่เกิน 6เดือน
กรณีการเสียชีวิตกะทันหันของ “ตั้ว-ศรัณยู” เรื่องเศร้าช็อกวงการบันเทิง พระเอกตลอดกาล นักแสดง และผู้กำกับชื่อดังวัย 59 ปี ที่จากไปอย่างกะทันหัน ด้วยโรคมะเร็งตับ ซึ่งทราบโดยบังเอิญเนื่องจากประสบอุบัติเหตุ ล้มในกองถ่ายละคร จนกระดูกสันหลังหัก หลังจากนั้นแพทย์จึงตรวจพบว่าป่วยเป็นมะเร็งตับระยะสุดท้าย เข้ารับการรักษาเรื่อยมา จนอาการดีขึ้น ก่อนจะทรุดลงกะทันหันและจากไปอย่างสงบ
จากสาเหตุนี้ทำให้คนไทยตื่นตัวกับโรคนี้มาก ว่าทำไมถึงทำให้ดารารุ่นใหญ่จากไปไวเหลือเกิน ล่าสุด นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ได้กล่าวเกี่ยวกับรายละเอียดของโรคดังกล่าว สรุปให้เข้าใจง่ายๆดังนี้
ประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมด ปีละ 122,757 ราย มะเร็งตับและท่อน้ำดีถือเป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับ 1 ในเพศชาย และอันดับ 2 ในเพศหญิง จากข้อมูลทะเบียนมะเร็งประเทศไทย (ปี 2558) พบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งตับรายใหม่ 20,671 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 15,912 ราย ซึ่งมะเร็งตับที่พบมากในประเทศไทยมี 2 ชนิด คือ มะเร็งของเซลล์ตับและมะเร็งท่อน้ำดีตับโดยพบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ
สาเหตุของมะเร็งตับ
- ผู้ที่ป่วยเป็นโรคไวรัสตับอักเสบบีและซี ซึ่งจะทำให้เป็นโรคตับแข็ง และจะเป็นโรคมะเร็งตับต่อไป
- ดื่มสุรา ซึ่งจะทำให้เป็นโรคตับแข็ง และจะส่งผลให้เกิดเป็นมะเร็งตับได้
- รับประทานอาหารดิบ หรือ ปลาดิบไทย โดยเฉพาะปลาร้าดิบ ซึ่งจะมีพยาธิใบไม้ตับ โดยจะเป็นสาเหตุหลักก่อให้เกิดมะเร็งตับในท่อน้ำดี
- การรับสารพิษอะฟลาทอกซินที่เกิดจากเชื้อราบางชนิดที่พบในอาหารประเภทถั่ว ข้าวโพด พริกแห้ง
- ผู้ที่รับประทานเนื้อสัตว์ที่มีสารเร่งเนื้อแดง
อาการของมะเร็งตับ ผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีอาการแสดงแตกต่างกัน ซึ่งโดยทั่วไปมักไม่มีอาการในระยะแรก อาการส่วนใหญ่ที่พบ คือ
- แน่นท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อเป็นประจำ
- อ่อนเพลีย น้ำหนักลด
- ปวดหรือเสียดชายโครงขวา
- อาจคลำพบก้อนในช่องท้อง
- ตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องโต
- มีอาการบวมบริเวณขาทั้ง 2 ข้าง เป็นต้น
จะรู้ได้อย่างไรว่า ตัวเองเสี่ยงเป็นมะเร็งตับ?
หากแน่นท้อง ท้องอืด ท้องผูก เมื่อไปพบแพทย์ ในระยะแรกแพทย์อาจจะยังไม่สงสัย ซึ่งแพทย์จะทำการตรวจร่างกายในเบื้องต้นก่อน ซึ่งหากคลำที่ชายโครงด้านขวาแล้วไม่พบก้อนเนื้อ ก็อาจจะวินิจฉัยว่าเป็นโรคกระเพาะ แล้วให้ยาไปรับประทาน
หากผ่านไป 1 สัปดาห์แล้วยังไม่หาย จะต้องขอทำอัลตร้าซาวน์ช่องท้อง เพื่อตรวจความผิดปกติ ซึ่งวิธีการวินิจฉัย คือการจะทราบว่าเป็นมะเร็งตับหรือไม่ ทราบได้จาก 2 วิธี คือ
1. การตรวจทางรังสีวิทยา ทั้งอัลตร้าซาวนด์ (Ultrasound) เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computerized Tomography หรือ CT) และเอ็กซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
2. การตรวจเลือดหาระดับของสารอัลฟ่าฟีโตโปรตีน(AFP) ซึ่งอาจพบสูงขึ้นในผู้ป่วยมะเร็งตับ
แนวทางการรักษา
พบเร็วในระยะเริ่มแรก ก็จะสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยการผ่าตัดเอาเซลล์มะเร็งออก และให้การรักษาโดยเคมีบำบัด
พบในระยะลุกลาม จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ยังสามารถรักษาโดยการพยุงอาการด้วยเคมีบำบัด หรือการรักษาอื่นๆ เพื่อยืดเวลาให้สามารถอยู่ได้นานขึ้น ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษา บางรายอาจอยู่ได้ไม่ถึง 6 เดือน แต่หากได้รับการรักษาก็อาจจะมีชีวิตอยู่ได้ราว 1-3 ปี
แนวทางป้องกัน
- ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี
- ไม่รับประทานอาหารดิบ หรือปลาดิบ
- ไม่ดื่มสุรา
- ไม่รับประทานอาหารที่มีสารเร่งเนื้อแดง
- ออกกำลังกาย
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
- หลีกเลี่ยงความเครียด
- หมั่นตรวจเช็กร่างกาย
กลุ่มเสี่ยง
ผู้ที่มีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งตับ ถึงแม้มะเร็งตับจะไม่ใช่โรคกรรมพันธุ์แต่ก็มีโอกาสที่จะได้รับการถ่ายทอดยีนส์บางส่วน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งตับ
ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงตามสาเหตุการเกิดโรคข้างต้นที่กล่าวมา
ขอบคุณ : ch3thailandnews